กรมชลประทาน เดินหน้าศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือ IEE พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นชุมชน ผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง รวบรวมข้อมูลและแนวทางแก้ปัญหา สู่แผนพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ จ.พังงา เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย-ภัยแล้ง เพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อการเกษตร และอุปโภค บริโภคตลอดทั้งปี ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 3 ตำบล อ.ทับปุด พื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 6,350 ไร่คาดทำ IEE แล้วเสร็จ มกราคม 2565
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน นำคณะผู้บริหาร ติดตามความก้าวหน้าแผนการดำเนินงานโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ ต.บางเหรียง อ.ทับปุด จ.พังงา พร้อมลงพื้นที่โครงการบริเวณฝายลำไตรมาส ที่ตั้งหัวงานอ่างเก็บน้ำ และพื้นที่รับประโยชน์ของโครงการ เพื่อรวบรวมข้อมูล รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำไปประกอบในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ มีส่วนสำคัญในการบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญให้กับประชาชนในการใช้อุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า กรมชลประทานได้ทำการศึกษาข้อมูลรายละเอียด แผนการดำเนินงาน และองค์ประกอบของโครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ ทั้งในด้านการพัฒนาในพื้นที่ที่เหมาะสม ตั้งแต่การคัดเลือกพื้นที่หัวงาน ปริมาณน้ำกักเก็บที่เหมาะสม รวมถึงพื้นที่ชลประทานและระบบการกระจายน้ำที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องมีการสรุปข้อดี ข้อเสียของแนวทางต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ในการพัฒนาโครงการ ทั้งทางด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงการ
สำหรับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากการพัฒนาโครงการ จะครอบคลุมการพิจารณาใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพ ชีวภาพ คุณค่าของการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพ รวมทั้งต้องมีการดำเนินการร่วมกับประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วม และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางสังคมให้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น รวมทั้งมีการศึกษาในรายละเอียดขั้นพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการ
นอกจากนี้ ต้องมีแผนจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแนวทางการฟื้นฟู รวมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบทางสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมทางหลักวิชาการ เพื่อให้เกิดการติดตามประเมินผลภายหลังการดำเนินโครงการเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยกรมชลฯมีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE )ให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามแนวทางของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จ เดือนมกราคม ปี 2565
สำหรับโครงการดังกล่าว พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขาสูง ประกอบด้วยพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (ป่าโซน ซี) จำนวน 25.09 ไร่ และเป็นพื้นที่ป่าเพื่อเศรษฐกิจ (ป่า อี) จำนวน 280.03 ไร่ กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการขออนุญาตกรมป่าไม้เพื่อเข้าไปทำการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในเขตป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้ โดยกรมป่าไม้ได้พิจารณาอนุญาตเพื่อเข้าไปทำการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขาสูง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564
ทั้งนี้โครงการการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ มีพื้นที่โครงการ 569.92 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บางเหรียง อ.ทับปุด จ.พังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และเหมาะสมทางด้านวิศกรรม เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีลักษณะเป็นเขื่อนดิน สันเขื่อนกว้าง 9 เมตร ยาว 407 เมตร สูง 37 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 5.73 ล้าน ลบ.ม.ที่ระดับน้ำเก็บกักปกติ +81.50 ม. (ร.ท.ก.) หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับโครงการฝายคลองลำไตรมาศเดิม โดยมีการวางแผนพัฒนาวางระบบท่อส่งน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังพื้นที่ชลประทานผ่านระบบท่อและเครื่องสูบน้ำ ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 6,350 ไร่ สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรครอบคลุมในพื้นที่ ต.โคกเจริญ ต.ทับปุด อ.ทับปุด และสนับสนุนน้ำด้านการอุปโภค บริโภค ครอบคลุม ต.บางเหรียง อ.ทับปุด ได้ประมาณ 50,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวใช้ระยะเวลา 3 ปี
อย่างไรก็ตามกรมชลประทานได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง และประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็น ในการพัฒนาโครงการที่สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนมากที่สุด และสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ซึ่งหากทำแผนศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ ก็จะนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำ หรือ กนช. และเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติการต่อสร้างต่อไป